มรสุมถาโถม! หุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

“หุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์” ถือเป็นดาวเด่นในปีที่ผ่านมา โดยทันทีที่โรคระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภาคการผลิตทั้งโลกทยอยกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง นำโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า

ส่วนสินค้าไอที อุปกรณ์แก็ดเจ็ตต่างๆ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตยังขายดี เพราะตั้งแต่เกิดโรคระบาดคนส่วนใหญ่อยู่บ้านทำงานที่บ้านมากขึ้น ขณะที่แบรนด์ต่างๆ พาเหรดเปิดตัวสินค้าใหม่คึกคัก

โดยราคาหุ้นชิ้นส่วนฯ หลายตัวในปีที่ผ่านพุ่งทำออลไทม์ไฮ แต่ปีนี้ราคาหุ้นพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ถูกเทขายตั้งแต่ต้นปี เปิดโหมดขาลงเต็มรูปแบบ ท่ามกลางสารพัดแรงกดดัน ทั้งการปรับฐานทางเทคนิค แรงเทขายตามดัชนีแนสแด็กกระดานหุ้นไอทีของสหรัฐ เนื่องจากกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย

นอกจากนี้ แต่ละบริษัทมีปัจจัยกดดันเฉพาะตัว โดยบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2564 ออกมาน่าผิดหวัง เนื่องจากเครื่องจักรในสายการผลิตใหม่ยังเดินเครื่องไม่ได้

ไม่ต่างกับบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ที่ไตรมาส 4 ปี 2564 พลิกขาดทุน 56 ล้านบาท หลังมีการบันทึกด้อยค่าเงินลงทุนและวัตถุดิบจำนวนมาก

ส่วนบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA หลายคนไม่อยากเข้าไปยุ่ง เพราะเข็ดจากปีก่อนที่ราคาหุ้นขึ้นลงยิ่งกว่ารถไฟเหาะ แถมถูกเด้งออกจากดัชนี SET50 และ SET100 ทำให้ไร้เสน่ห์ไปเยอะ

ขณะที่ล่าสุดยังมีแรงกดดันจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เปิดฉากสู้รบมากว่า 2 สัปดาห์ ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนในภาคการผลิต เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือ “ชิพ” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตสินค้าอื่นอีกมากมายบนโลกในนี้ ทั้งรถยนต์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ

โดยรัสเซียเป็นผู้ส่งออกแร่พาลาเดียม (Palladium) ที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รายใหญ่ที่สุดในโลก มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 21% และมีข้อมูลว่าพาลาเดียมที่ใช้ในสหรัฐ 35% นำเข้าจากรัสเซีย

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งผลิตแพลทินัม (Platinum) ซึ่งใช้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และจิวเวอร์รี่, นิกเกิล (Nickel)ใช้ผลิตสแตนเลส ขณะเดียวกันรัสเซียยังส่งออกทองแดง (Copper) ราว 10% ของกำลังการผลิตทั้งโลก ที่สำคัญรัสเซียและยูเครนมีส่วนแบ่งในการส่งออกก๊าซนีออน (Neon Gas) รวมกันมากกว่า 50%

ซึ่งตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้พุ่งกระฉูด เดินหน้าทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ เพราะกังวลว่าจะไม่มีวัตถุดิบไปผลิตชิพ ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตชิพขาดแคลนลากยาวออกไปอีก ถือเป็นปัจจัยลบต่อบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และภาคการผลิตทั่วโลก

โดยบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) ระบุว่า กลุ่มรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์มีปัญหาเรื่องชิพขาดแคลนอยู่แล้ว และเมื่อมาเจอสงครามระหว่างรัสเซียยูเครนยิ่งทำให้ปัญหาชิพตึงตัวมากขึ้น ดังนั้น ในระยะสั้นแนะนำให้รอติดตามดูสถานการณ์ (Wait & See) ไปก่อน เพราะถ้าสงครามยืดเยื้อ ราคาหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนฯ ยังมีความเสี่ยงขาลง

ด้านบล.เคทีบีเอสที ระบุว่า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุดจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน จากความกังวลด้าน supply chain disruption และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงนี้ไปก่อน ประเมินว่าหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ คือ KCE, HANA, DELTA และ HTECH

ขณะที่บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีประเด็นลบจากการหยุดผลิตของ BMW ในเยอรมนีหลังประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนจากยูเครน อย่างไรก็ตามโรงงานในอังกฤษ สหรัฐ และเม็กซิโกยังผลิตได้ตามปกติ ถือเป็นปัจจัยลบต่อ KCE เนื่องจาก BMW เป็นหนึ่งในลูกค้าหลักคิดเป็นสัดส่วนราว 5-10% ของรายได้รวม

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business

“หุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์” ถือเป็นดาวเด่นในปีที่ผ่านมา โดยทันทีที่โรคระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภาคการผลิตทั้งโลกทยอยกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง นำโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนสินค้าไอที อุปกรณ์แก็ดเจ็ตต่างๆ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตยังขายดี เพราะตั้งแต่เกิดโรคระบาดคนส่วนใหญ่อยู่บ้านทำงานที่บ้านมากขึ้น ขณะที่แบรนด์ต่างๆ พาเหรดเปิดตัวสินค้าใหม่คึกคัก โดยราคาหุ้นชิ้นส่วนฯ หลายตัวในปีที่ผ่านพุ่งทำออลไทม์ไฮ แต่ปีนี้ราคาหุ้นพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ถูกเทขายตั้งแต่ต้นปี เปิดโหมดขาลงเต็มรูปแบบ ท่ามกลางสารพัดแรงกดดัน ทั้งการปรับฐานทางเทคนิค แรงเทขายตามดัชนีแนสแด็กกระดานหุ้นไอทีของสหรัฐ เนื่องจากกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ แต่ละบริษัทมีปัจจัยกดดันเฉพาะตัว โดยบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2564 ออกมาน่าผิดหวัง เนื่องจากเครื่องจักรในสายการผลิตใหม่ยังเดินเครื่องไม่ได้ ไม่ต่างกับบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ที่ไตรมาส 4 ปี 2564 พลิกขาดทุน 56 ล้านบาท หลังมีการบันทึกด้อยค่าเงินลงทุนและวัตถุดิบจำนวนมาก ส่วนบริษัท…